ไวรัส ‘ฝีดาษลิง’ คืออะไร อันตรายแค่ไหน?

May 24, 2022 1 min read

ไวรัส ‘ฝีดาษลิง’ คืออะไร อันตรายแค่ไหน?

ทุกคนอาจจะคุ้นกับชื่อโรค ‘ฝีดาษ’ ที่เป็นโรคติดต่อน่ากลัว มีอาการรุนแรง และติดต่อจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งได้ง่าย แต่วันนี้เรามี ‘ฝีดาษลิง’ (monkeypox) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส Orthopoxvirus ติดต่อระหว่างสัตว์และคน

เชื้อไวรัสฝีดาษลิงเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษในคนและฝีดาษวัว และยังพบในสัตว์อีกหลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระต่าย เป็นต้น สัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงก็สามารถติดเชื้อได้ รวมทั้งคนก็สามารถติดเชื้อนี้ได้เช่นกัน

องค์กรอนามัยโรค (WHO) คาดว่าจะพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงเพิ่มขึ้นในอีกหลายประเทศ ซึ่งในขณะนี้พบผู้ป่วยกว่า 100 รายแล้วจาก 15 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักรอังกฤษ สเปน โปรตุเกส อิตาลี เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมนี สวีเดน สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย อิสราเอล เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และกรีซ แต่ก็ยืนยันว่าโรคนี้ไม่ได้แพร่ระบาดง่ายเหมือนโควิด-19 เพราะติดเชื้อผ่านการสัมผัสร่างกายโดยตรงเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสชนิดนี้ก็ไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย เชื้อโรคนี้มีระยะฟักตัว 7-14 วัน หรืออาจนานได้ถึง 21 วัน เมื่อติดเชื้อฝีดาษลิงแล้ว จะแสดงอาการ มีไข้ หนาวสั่น ปวดหัว เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต (ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นอาการสำคัญที่แตกต่างจากฝีดาษคน) ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง จากนั้นประมาณ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขน ขา และอาจเกิดบนหน้าและลำตัว จากผื่นจุดแดง นูนขึ้นเป็นตุ่ม แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำ จนเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะมีสะเก็ดคลุมแล้วหลุดออกมา



ลักษณะการติดต่อของเชื้อไวรัสฝีดาษลิง แบ่งเป็น

1) จากสัตว์สู่มนุษย์  พบว่าสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสทางผิวหนัง หรือเยื่อเมือก เช่น จมูก ปาก ตา กับสัตว์ที่ป่วยเป็นโรค สารคัดหลั่ง เลือด ผิวหนัง หรือ การนำซากสัตว์ป่วยมาปรุงอาหาร รวมทั้งการถูกสัตว์ป่วย ข่วน กัด หรือสัมผัส เครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อจากสัตว์นั้น

2) จากมนุษย์สู่มนุษย์  ทางหลักติดต่อผ่านละอองฝอยทางการหายใจขนาดใหญ่ กล่าวคือจากสารคัดหลั่งต่างๆ จากการอยู่ใกล้ผู้ป่วยในระยะประชิด การสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย การสัมผัสเลือด หรือรอยโรคที่ผิวหนัง หรือ ของใช้ส่วนตัวที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย

ประเทศไทยที่เปิดให้มีการเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น และเป็นช่วงเตรียมนำโรคโควิด 19 เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ก็อาจมีความเสี่ยงจากผู้เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด โดยเฉพาะในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ 

ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนังได้แนะนำในส่วนการป้องกันเบื้องต้น คือ ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือ เจลแอลกอฮอล์ เพิ่มเติมคือหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ ได้แก่ สัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระต่าย และสัตว์ตระกูลไพรเมต เช่น ลิง ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีรายงานพบเชื้อในสัตว์เหล่านี้ในประเทศไทยก็ตาม แต่ป้องกันไว้ดีที่สุด โดยแนะนำให้งดรับประทานของป่า หรือปรุงอาหารจากสัตว์ป่า, หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่มีประวัติมาจากพื้นที่เสี่ยง, ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น, หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก และทานอาหารปรุงสุก เป็นต้น

ตามปกติแล้วอาการป่วยโรคฝีดาษลิงในคนจะค่อยๆ หายได้เองหลังจากผ่านไปประมาณ 2-4 สัปดาห์แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียด กรณีที่เดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักตัวเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ

 

ขอขอบคุณ
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, sanook.com/health, เว็บข่าวกรุงเทพธุรกิจ, เว็บข่าว PPTV, Live Science

✅ Boviga ผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ UV-C Philips

ปรึกษาฟรีกับผู้เชี่ยวชาญด้านแสง UV-C เพื่อการยับยั้งเชื้อโรค เชื้อไวรัส ท่านใดที่มีความสนใจติดตั้งโคมไฟฆ่าเชื้อ สามารถติดต่อเข้ามาได้ทาง Line: @boviga หรือโทร 02-408-4236 เรามีแอดมินคอยให้คำปรึกษาในเรื่องโคมไฟทุกประเภท


contact